วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิวัฒนาการของมนุษย์

         วิวัฒนาการ (Evolution) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปตามลำดับขั้น ที่มีสภาพแตกต่างไปจากเดิม   ในลักษณะที่ก้าวหน้าและซับซ้อนขึ้น
         วิวัฒนาการของมนุษย์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางร่างกายของมนุษย์ทีละเล็กละน้อย ซึ่งเป็นไปในลักษณะก้าวหน้าและซับซ้อนขึ้น อันจะทำให้มีประสิทธิภาพในการมีชีวิตรอด
                
  การศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์

        การศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์นั้น ได้ศึกษาโดยอาศัยทฤษฎีของ ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ คือ ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Theory of Evolution)
ทฤษฎีวิวัฒนาการ เชื่อว่า สัตว์ต่างๆ จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะได้ ด้วยกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ คือ
1. สัตว์ต่างๆ จะขยายและแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
2. สัตว์ต่างๆ จะต่อสู้กันเพื่อความอยู่รอด
3. สัตว์ต่างๆ จะมีความแตกต่างกันและลักษณะของสัตว์แต่ละชนิดเหล่านั้นจะถ่ายทอดไปได้ทางกรรมพันธุ์
4. การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่างๆ ทำให้เกิดสัตว์ชนิดใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น
        จากกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาตินี้เอง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือสัตว์ต่างๆ จะมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ ธรรมชาติก็จะคัดเลือกไว้แต่สัตว์ที่มีชีวิตเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในที่ใดที่หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของชีวิตจึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ทำให้มีชีวิตรอด มนุษย์เช่นเดียวกันกับสัตว์ชนิดอื่น คือมีการเปลี่ยนแปลงโดยวิวัฒนาการ จนทำให้มนุษย์มีสภาพทางร่างกายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
      
การค้นพบบรรพบุรุษของมนุษย์

       เป็นที่คาดคะเนกันว่า เผ่าพันธุ์เริ่มมีอยู่ในโลกไม่น้อยกว่า 2 ล้านปีมาแล้ว และคงจะอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา จำนวนประชากรคงไม่มากนัก ต่อมาขยายพันธุ์ไปทั่วโลก ทุกทวีป มีมนุษย์อาศัยอยู่ ยกเว้นทวีปแอนตาร์คติก จากการศึกษาหลักฐานทางกายวิภาคเปรียบเทียบกล่าวกันว่า มนุษย์เริ่มต้นมาจากสัตว์กินแมลงที่เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปเป็นสัตว์จำพวกลิงชนิดต่างๆ ตามความจำเป็นแห่งการยังชีพและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
จากสัตว์กินแมลงที่เป็นไพรเมตเริ่มแรก ได้วิวัฒนาการทำให้เกิดเป็นลิง (Monkeys) ลิงใหญ่ (Apes) และเป็นคนโดยแยกออกเป็นสายๆ แล้วมีวิวัฒนาการตามสายจนถึงเป็นลิงใหญ่ปัจจุบันและมนุษย์ปัจจุบัน
สัตว์ในลำดับไพรเมตมีกำเนิดมาเมื่อประมาณ 100 ล้านปีมาแล้ว บางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่และควรศึกษา ได้แก่
1. ทรีชรู (Tree shrew) กินแมลงเป็นอาหาร อาศัยอยู่ตามกิ่งไม้เตี้ยๆ ออกหากินตอนกลางคืน รูปร่างทั่วๆ ไปคล้ายหนู หรือกระรอก มีจมูกยาวช่วยในการดมกลิ่น ดวงตาอยู่ด้านข้าง ความสามารถในการมองไม่ค่อยดี มีหางยาวช่วยในการยึดเหนี่ยวและจับกิ่งไม้
2. เลมูร์ (Lemur) รูปร่างคล้ายสุนัขจิ้งจอก มีหางยาวช่วยในการทรงตัว แต่ยึดเหนี่ยวและจับกิ่งไม้อย่างทรีชรูไม่ได้ ดวงตาของเลมูร์เลื่อนมาอยู่ด้านหน้ามากขึ้น ความสามารถ ในการมองดีขึ้น ทั้งมองตรงและมองไกล ส่วนความสามารถในการดมกลิ่นลดลง เลมูร์จะใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้
3. ทราเซีย (Trasier) มีพัฒนาการสูงขึ้น ดวงตาเลื่อนมาอยู่ด้านหน้า มีความสามารถในการมองได้ดี จมูกหดสั้น ความสามารถในการดมกลิ่นลดลง สามารถหันศีรษะได้โดยรอบ ดำรงชีวิตอยู่บนต้นไม้
4. ลิงโลกใหม่ (New world monkey) พบในทวีปอเมริกาใต้ และละตินอเมริกา มีขนาดต่างๆ กัน อาศัยอยู่บนต้นไม้ มีหางค่อนข้างยาว และสามารถในการใช้หางช่วยในการจับ สมองในส่วนที่เกี่ยวกับประสาทในการมองพัฒนาขึ้นจนเห็นได้ชัดเจน ลักษณะของฟันพัฒนาขึ้น มีฟันกราม (Premolars) 3 ซี่ ตัวอย่างของลิงโลกใหม่ เช่น ลิงคาปูชิน (Capuchin) ลิงเฮาเลอร์ (Howler)
5. ลิงโลกเก่า (Old world monkey) พบในซีกโลกตะวันออกในเอเชียนและใน แอฟริกา ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายลิงโลกใหม่ มีข้อแตกต่างที่ลิงโลกเก่า หางไม่ยาว จับสิ่งของไม่ได้ นิ้วหัวแม่มือหันเข้าหากัน เพื่อช่วยในการจับสิ่งของ มีฟันกราม 2 ซี่ เช่นเดียวกับ
          - มนุษย์ ลิงโลกเก่ามีหลายขนาดและที่พบกันมาก ได้แก่ ลิงบาบูน (Baboon) ลิงแมนดริลล์ (Mandrill) ลิงแสม (Macaque)
6. ลิงใหญ่ (Ape) มีพัฒนาการขึ้นมาใกล้เคียงกับคนมากกว่าไพเมตอื่นๆ ลิงใหญ่เป็นไพรเมตที่ไม่มีหาง มีขนาดของสมองที่โตกว่า ร่างกายขนาดต่างๆ บางชนิดมีขนาดใหญ่โตมาก ปัจจุบันมีลิงใหญ่อยู่เพียง 3 ชนิด ได้แก่
6.1 ชะนี (Gibbon) มีความว่องไวปราดเปรียวมากที่สุดในบรรดาไพรเมตด้วยกัน ยืนตัวเกือบจะตรงได้นานพอสมควร มีความสามารถในการมองได้ดีมาก ขนาดของร่างกายสูง 3 ฟุต ปริมาตรความจุของมันสมองโดยเฉลี่ย 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร คาดว่าชะนีเริ่มเกิดขึ้นมาในโลกประมาณ 30 กว่าล้านปีมาแล้ว
6.2 อุรังอุตัง (Orangutan) มีพัฒนาการของกะโหลก ส่วนใบหน้าใกล้เคียงกับมนุษย์มาก เป็นสัตว์ที่มีความแข็งแรง มีความจุของมันสมองโดยเฉลี่ย 400 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีความฉลาดพอสมควร
6.3 ชิมแปนซี (Chimpanzee) โครงสร้างของร่างกายคล้ายกับมนุษย์มากกว่าอุรังอุตัง มีความจุของขนาดสมองโตเฉลี่ย 400 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีความฉลาดมากกว่าอุรังอุตัง ไม่มีดั้งจมูก สูงโดยเฉลี่ย 4 – 5 ฟุต อาศัยอยู่บนพื้นดิน ปีนต้นไม้เก่ง กินพืชเป็นอาหาร ชิมแปนซี ขนาดของสมองตัวผู้ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตัวเมียประมาณ 460 ลูกบาศก์เซนติเมตร จมูกแบนมาก อาศัยอยู่กับพื้นดิน ชอบอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ปีนต้นไม้เก่ง รู้จักสร้างรังเป็นที่นอน
ลิงเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มของลิงใหญ่ (Apes) เช่น ชิมแปนซี และกอริลลา จากลักษณะความคล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า มนุษย์มาจากลิง หรือลิงเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ แต่จากการศึกษาของนักวิชาการ พบว่า มีลักษณะหลายอย่างจากหลักฐานทางกายวิภาคเปรียบเทียบ ที่ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าคำกล่าวข้างต้นจะเป็นจริง นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า บรรพบุรุษของมนุษย์ไม่ใช่ลิง แต่เป็นสัตว์ตระกูลหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ปัจจุบัน มีความฉลาดและสามารถพัฒนาส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม และได้วิวัฒนาการมาโดยลำดับ จนกระทั่งเป็นมนุษย์สมัยปัจจุบันที่เรียกว่า Homo sapiens sapiens หรือ Modern man
มนุษย์ย่อมมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ และจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการย่อมมาจากจุดเดียวกันกับสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งลิง และในระยะเวลาต่อๆ มาได้เกิดการแยกสายวิวัฒนาการออกไปหลากหลาย ลิงแต่ละชนิดก็แยกสายวิวัฒนาการออกไป เช่นเดียวกันกับมนุษย์ก็แยกสายวิวัฒนาการออกไปอีกสายหนึ่ง
         จากการประชุมของนักวิชาการทั่วโลกที่เมืองนิช ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนกันยายน พ.. 2519 ตกลงรับรองผลการค้นคว้าวิจัย เรื่อง กำเนิดของมนุษย์แรกเริ่มว่าจุดกำเนิดของมนุษย์อยู่ที่แอฟริกาตะวันออก จากนั้นจึงได้อพยพไปสู่ทวีปยุโรปและเอเชีย (บุญเลิศ สดสุชาติ, 2524 : 22)
ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับบรรพบุรุษของมนุษย์นั้น ได้มีนักมานุษยวิทยาจำนวนมากค้นพบซากต่างๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงถึงวิวัฒนาการและความเป็นมาของมนุษย์จากอดีตจนปัจจุบัน ซึ่งเรียงลำดับ ตามอายุ และลักษณะของซากที่ค้นพบได้ดังนี้
       ค้นพบซากของเอปชนิดหนึ่งในประเทศอินเดีย เรียกว่า รามาพิเธคัส (Ramapithecus) มีอายุประมาณ 14 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าพวกนี้คงเดินทางมาจากแอฟริกา เพราะลักษณะเดียวกันนี้ได้มีผู้พบอยู่ที่เคนยาในแอฟริกาด้วย มีลักษณะตัวเล็ก น้ำหนักเบา การเคลื่อนไหว ไปมาคล่องตัว เริ่มเดินหลังตรงขึ้น ขายาว สมองโตกว่าเอป (Apes) อื่นๆ เดินสองเท้า กินอาหารทั้งใบไม้ ผลไม้ และเนื้อสัตว์ อาจจะเรียนรู้วิธีใช้อาวุธ และรู้จักวิธีล่าสัตว์เป็นครั้งแรก ขากรรไกรและฟันมีขนาดใกล้เคียงกับมนุษย์มาก
     ในปี ค.. 1920 ศาสตราจารย์เรมอนด์ ดาร์ท (Raymond Dart) นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรเลีย ได้ค้นพบซากเอป (Apes) ที่เมืองคัมเบอร์ลี่ในแอฟริกาใต้ มีอายุประมาณ 1 ล้านปีมาแล้ว และคงสูญพันธุ์ไปเมื่อ 250,000 ปีมาแล้ว มีความจุสมองไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เซนติเมตร กรามใหญ่มาก ดั้งจมูกราบ ลักษณะที่คล้าย    มนุษย์ คือ ยืนตัวตรงได้ กระดูกสะโพก กระดูกโคนขา ฟัน ขา และเท้า ใกล้เคียงกับมนุษย์ รู้จักใช้กิ่งไม้ และหินกรวดเป็นเครื่องมือ และรู้จักใช้ไฟ นับได้ว่าออสตราโลฟิเธคัสเป็นช่วงที่แสดงถึงวิวัฒนาการของมนุษย์
     ในปี ค.. 1959 ดร.หลุย เอสบี ลีคกี้ และภรรยา ได้ค้นพบกะโหลกศีรษะ กระดูกคาง และเครื่องมือที่ทำด้วยหินกรวด ทีตำบลโอลดูวาย จอร์จ (Oldoway Gorge) ในประเทศแทนซาเนีย แอฟริกาตะวันออก ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลสาบวิคตอเรีย ได้รับการตั้งชื่อว่า ซินแจนโธรปัสบออิชิ (Zinjanthropus Boisei) หรือมนุษย์โอลดูวาย (Oldoway man) มีอายุประมาณ 1,750,000 ปีมาแล้ว มีความสูงประมาณ 4 ฟุต 9 นิ้ว มีความจุสมองประมาณ 600 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีใบหน้ายาวและใหญ่ ฟันกราม และฟันข้างมีขนาดใหญ่ ฟันเขี้ยวมีขนาดเล็ก เป็นการพิสูจน์ได้ว่า บรรพบุรุษของมนุษย์นั้นไม่ใช่เอป (Apes) แต่เป็นมนุษย์วานรชนิดหนึ่ง แต่มีลักษณะเป็นมนุษย์ยังไม่เต็มที่
     ในปี ค.. 1964 ดร.ลีคกี้ และภรรยา ได้ค้นพบซากโครงกระดูกเพิ่มอีกที่ตำบล โอลดูวาย จอร์จ มีอายุประมาณ 2 ล้านปี เรียกชื่อว่า โฮโม ฮาบิลิส (Homohabilis) กระดูกที่พบมีกระดูกหน้าแข้ง กระดูกน่อง กระดูกเชิงกราน ฟัน และบางชิ้นของหัวกะโหลก มีความสูงประมาณ 4 ฟุต พบสิ่งประดิษฐ์และเครื่องมือที่ทำด้วยกระดูกแท้ๆ สำหรับตัด และขัดถู หนังสัตว์ โฮโมฮาบิลิส ปรากฏอยู่บนโลกระยะเวลาเดียวกันกับซินแจนโธรบัส และออสตราโลพิเธคัส แต่โฮโมฮาบิลิส คงอยู่สืบมาเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของมนุษย์ โฮโมฮาบิลิส เป็นช่วงแห่งการวิวัฒนาการจากการบริโภคผักหญ้าเป็นอาหาร ไปสู่การบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ซึ่งเป็นขั้นตอนอันสำคัญของวิวัฒนาการทางกายภาพ และวัฒนธรรมของมนุษย์
      ในปี ค.. 1891 ดร.อูยีน ดูบัว (Dr.Eugene Dubois) นายแพทย์ชาวฮอลันดา ได้ค้นพบซากโบราณที่ตอนกลางของเกาะชวา เรียกชื่อว่า พิเธแคนโธรบัส อีเรกตัส (Pithecanthropus erectus) เรียกสามัญว่า มนุษย์ชวา (Java man) มีอายุประมาณ 5 – 8 แสนปีมาแล้ว ส่วนที่พบคือส่วนบนของหัวกะโหลก กระดูกสะโพก บางส่วนของขากรรไกรล่าง และฟัน 3 ซี่ จากการพิจารณาส่วนประกอบต่างๆ พบว่า มนุษย์ชวามีลักษณะเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่ยังมีร่องรอยของวานรอยู่ เช่น ฟัน และกระดูกขาคล้ายมนุษย์ แต่กระโหลกศีรษะและการทรงตัวคล้ายวานร เบ้าตาและโหนกคิ้วนูนสูง หน้าผากลาดต่ำ สูงประมาณ 5 ฟุต 7 นิ้ว หนักประมาณ 150 ปอนด์ มีแขนเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ตามองตรง อาจจะสามารถคิด หรือพูดได้อย่างมนุษย์ รู้จักใช้เครื่องมือ เช่น ไม้ปลายแหลม และขวานมือ
      ในปี ค.. 1927 ดร.ดาวิดสัน แบล็ค (Dr.Davidaon Black) นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนดานา ได้พบฟันมนุษย์โบราณ 1 ซี่ ที่ถ้ำจูกูเทียน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง และในปี 1929 ได้พบกะโหลกศีรษะ และโครงกระดูกอีก 50 ซาก เรียกชื่อว่า ซีแนนโธรปัส เพคิเนนซีส (Sinanthropus pekinensis) เรียกสามัญว่า มนุษย์ปักกิ่ง (Pekin man) เป็นมนุษย์ที่มีความเจริญมากกว่ามนุษย์ชวา มีความจุสมองประมาณ 1,075 ลูกบาศก์เซนติเมตร สูงประมาณ 5 ฟุตเศษ รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือด้วยกระดูกสัตว์ และหินอย่างหยาบๆ รู้จักใช้ไฟเพื่อป้องกันความหนาว และสัตว์ป่า รู้จักใช้ไฟปรุงอาหาร  
     ในปี ค.. 1925 นักมานุษยวิทยาได้ค้นพบซากมนุษย์โบราณในถ้ำริมแม่น้ำนีอันดรา (Neandra) ในประเทศเยอรมัน และตามที่ต่างๆ ในยุโรป เช่น ในฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เรียกชื่อว่า มนุษย์นีอันเดอร์ธัล
มีชีวิตอยู่ระหว่าง 150,000 – 50,000 ปีมาแล้ว สูงประมาณ 5 ฟุต 3 นิ้ว มีขาค่อนข้างสั้น ความจุสมองประมาณ 1,550 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีสติปัญญาเหมือนมนุษย์ในปัจจุบัน สามารถสร้างเครื่องมือได้อย่างสวยงาม แต่ต่อมาก็สูญพันธุ์ไป นับได้ว่าเป็นเพียงสายข้างเคียงกับสายวิวัฒนาการของมนุษย์ปัจจุบันเท่านั้น
      ในปี ค.. 1886 ได้ค้นพบซากมนุษย์ปัจจุบันจริงๆ ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งเลเอซี่ (Eyzies) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส พบโครงกระดูกชนิดเดียวกันในถ้ำต่างๆ จำนวนมาก เช่น ในประเทศเชคโกสโลวาเนีย อังกฤษ เยอรมัน สเปน และอิตาลี มีชีวิตอยู่ประมาณ 40,000 – 30,000 ปีมาแล้ว สูง 5 ฟุต 10 นิ้ว ศีรษะใหญ่ คิ้วสูง สันคิ้วไม่ใหญ่มากนัก หน้าตรง จมูกโด่ง หน้าผากสูง กระดูกขากรรไกรแข็งแรงมาก มีความจุสมองประมาณ 1,660 ลูกบาศก์เซนติเมตร สามารถประดิษฐ์เครื่องมือด้วยหินอย่างสวยงาม รู้จักวาดภาพโดยเฉพาะภาพเขียนวัวไบซันที่จัดว่าเป็นศิลปะชิ้นเอก แสดงให้เห็นว่า โครมันยองเป็นมนุษย์ที่มีความฉลาดอย่างแท้จริง (Homo Sapiens) และเป็นมนุษย์ที่แท้จริง (true-man) ของมนุษย์เริ่มแรก ดังนั้น เราอาจสรุปขั้นตอนของการวิวัฒนาการของมนุษย์ได้ดังนี้
1. เอปที่มีลักษณะเหมือนคน (Man like apes) ได้แก่ พวกออสตราโลพิเธคัส และซินแจนโธรปัส
2. คนที่มีลักษณะเหมือนเอป (Apes like man) ได้แก่ พวกพิเธแคนโธรปัส และซิแนนโธรปัส
3. มนุษย์โบราณ (Primitive species of man) ได้แก่ พวกนีอันเดอร์ธัล
4. มนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens) ได้แก่ พวกโครมันยอง

ลักษณะทางชีวภาพของมนุษย์ในปัจจุบันที่สำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
1. สามารยืนตรงยืนตั้งฉากกับพื้นดินด้วยขา 2 ขา
2. กระดูกเชิงกรานด้านบนจะคลี่คล้ายแผ่นพัด
3. หัวกะโหลกจะตั้งอยู่ตรงกลางของกระดูกสันหลังรูปตัวเอส (S)
4. หน้าไม่ยื่น และมีลูกคาง
5. เมื่อเทียบสัดส่วนของสมองกับร่างกายแล้ว สมองของมนุษย์จะมีมากกว่าของสัตว์
6. ขากรรไกรสั้น และแนวฟันตามเพดานปากจะโค้งเกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม ฟันเขี้ยวจะลดลง ฟันกรามจะมีลักษณะนูนเป็น 4 ปุ่ม
7. ช่วงขาจะยาวกว่าช่วงแขน
8. หัวแม่มือและหัวแม่เท้าสั้น โดยหัวแม่มือจะสามารถพับงอเข้าหาอุ้งมือได้ และนิ้วอีกทั้ง 4 งอได้
9. ร่างกายจะไม่ค่อยมีขน

การจำแนกชาติพันธุ์ของมนุษย์

     มนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในโลกนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน จะมีลักษณะทางร่างกายที่แตกต่างกันอยู่หลายแบบ ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่มนุษย์อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และทางสังคมที่แตกต่างกัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมนั้นๆ อันเป็นผลทำให้มนุษย์มีลักษณะทางร่างกายที่ไม่เหมือนกัน โดยถือว่าชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มมีลักษณะทางร่างกายบางอย่างที่คล้ายคลึงกับในกลุ่มของตน และเห็นได้ชัดว่าแตกต่างจากกลุ่มอื่น
การแบ่งชาติพันธุ์ของมนุษย์ทำได้หลายแบบโดยอาศัยหลักการต่างๆ 4 ประการ ดังนี้  
1. หลักการทางชีววิทยา
2. หลักการทางกายภาพของมนุษย์
3. หลักการทางภูมิศาสตร์
4. หลักการทางศิลปะ และวัฒนธรรม
   
1. หลักการทางชีววิทยา ลินเนียส (Linnaeus) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน ได้แบ่งชาติพันธุ์ของมนุษย์ โดยใช้หลักของความเจริญทางด้านสมอง ออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.1 มนุษย์ที่ฉลาดมีความรู้ (Thinking man) หรือที่เรียกว่า โฮโมซาเปียน (Homo sapiens) ได้แก่ มนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ โดยทั่วไปมีความรู้ในวิทยาการต่างๆ และสามารถนำความรู้มาสร้างสรรค์วัฒนธรรมต่างๆ ขึ้นได้
1.2 มนุษย์ป่าเถื่อน (Homo Ferus) คือพวกที่อยู่ในสังคมเริ่มแรก (Primitive Society) มีความเป็นอยู่และระบบเศรษฐกิจที่ล้าหลังมาก
1.3 มนุษย์ที่ดุร้ายอย่างสัตว์ (Homo Monstrous) หมายถึง มนุษย์ที่ยังไม่ได้วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ได้แก่ มนุษย์ที่ยังนิยมล่าหัวมนุษย์ด้วยกัน เช่น คนบางเผ่าที่อยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา มนุษย์กินคน ที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ และที่อยู่ในเกาะนิวกินี
    2. หลักการทางภายภาพของมนุษย์ เป็นการแบ่งชาติพันธุ์ของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ ปัจจัยต่างๆ ในส่วนประกอบของร่างกาย ได้แก่ ลักษณะทางรูปร่าง หน้าตา สัดส่วนของร่างกาย ลักษณะของศีรษะ ลักษณะของผม จมูก สีผิว เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดแบ่งมนุษย์ออกได้เป็น 4 ชาติพันธุ์ คือ
2.1 นิกรอยด์ (Negroid) ชาติพันธุ์กลุ่มนิกรอยด์ โดยทั่วไปจะมีผิวคล้ำ น้ำตาล หรือเหลือง ผมมีสีดำและหยิกหยอง จนถึงหยิกขอด มีขนตามตัวเล็กน้อย ศีรษะรูปยาว จมูกทรงกว้างและแบน รูจมูกใหญ่ ใบหูเล็ก ริมฝีปากหนา กระดูกขากรรไกรกางออก คางยื่น ดวงตาสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม รูปร่างเตี้ยจนถึงสูงปานกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ
2.1.1 แอฟริกันนีกรอยด์ ได้แก่ พวกที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นส่วนใหญ่
2.1.2 โอเชียนนิกรอยด์ ได้แก่ พวกที่อาศัยอยู่ที่เกาะนิวกินี และเกาะใกล้เคียง
2.1.3 นีกรอยด์ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย ได้แก่ พวกที่อาศัยอยู่ที่หมู่เกาะในทะเลอันดามัน ในมาเลเซีย เกาะสุมาตรา และฟิลิปปินส์ บางส่วน
2.2 คอเคซอยด์ (Caucasoid) ชาติพันธุ์กลุ่มคอเคซอยด์ โดยทั่วไปจะมีผิวขาวหรือน้ำตาล ลักษณะเส้นผมละเอียด อ่อนนุ่ม และหยิกสลวย มีขนตามตัวปานกลางค่อนข้างดก เส้นผมสีทองอ่อน น้ำตาลเข้ม หรือค่อนข้างแดง กะโหลกศีรษะค่อนข้างใหญ่และทุย ปลายจมูกแคบและโด่ง โหนกแก้มไม่นูนให้เห็นชัด ริมฝีปากบาง คางไม่ยื่น รูปร่างปานกลางถึงสูง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 12 กลุ่มย่อยคือ
2.2.1 เมดิเตอร์เรเนียนพื้นเดิม อยู่รอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
2.2.2 แอตแลนโต-เมดิเตอร์เรเนียน อยู่แถบตะวันออกกลาง สเปน โปรตุเกส และหมู่เกาะอังกฤษ
2.2.3 อิเรโนอาฟกาน เมดิเตอร์เรเนียน อยู่ที่อิหร่าน อัฟกานิสถาน อินเดียบางส่วน และแอฟริกาเหนือ
2.2.4 นอร์ดิก อยู่ที่ยุโรปตอนกลาง สแกนดิเนเวีย
2.2.5 มอลติกตะวันออก อยู่ที่บริเวณมอลติกตะวันออก
2.2.6 แลปป์ อยู่ทางตอนเหนือของสแกนดิเนเวีย และคาบสมุทรโคลา
2.2.7 แอไปน์ อยู่ที่ฝรั่งเศสแถบภูเขาแอลป์จนถึงโซเวียต
2.2.8 ไดนาริก อยู่ทางตะวันออกของภูเขาแอลป์ ตั้งแต่สวิสจนถึงอัลเบเนีย เอเชียไมเนอร์ และซีเรีย
2.2.9 อาร์เมนอยด์ อยู่ที่เอเชียไมเนอร์
2.2.10 แฮมมิติส อยู่ที่แอฟริกาเหนือ และแอฟริกาตะวันออก
2.2.11 อินโดดราวิเดียนส์ อยู่ที่อินเดียและศรีลังกา
2.2.12 โปลีนีเซียน อยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิคตอนกลางหรือบริเวณที่เรียกว่า โปลีนีเซีย
2.3 มองโกลอยด์ (Mongoloid) ชาติพันธุ์กลุ่มมองโกลอยด์ โดยทั่วไปจะมีผิวเหลือง ผมสีดำเหยียดตรงค่อนข้างหยาบ มีขนตามตัวเล็กน้อย ใบหน้าค่อนข้างแบน โหนกแก้มนูนเห็นได้ชัด เบ้าตาตื้น รูปนัยน์ตาเรียวแคบ นัยน์ตามีสีดำหรือน้ำตาล จมูกไม่กว้าง ไม่โด่ง ริมฝีปากไม่บางไม่หนา คางยื่นออกมาเล็กน้อย ขากรรไกรเป็นรูปโค้งยื่นออกมามาก ศีรษะค่อนข้างกลม รูปร่างเตี้ยถึงสูงปานกลาง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ
2.3.1 มองโกลอยด์โบราณ มีจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากมายไม่แน่นอน ได้แก่ ประชากรดั้งเดิมในธิเบต มองโกเลีย จีน เกาหลี ไซบีเรีย และญี่ปุ่น
2.3.2 อาร์ติคมองโกลอยด์ ได้แก่ พวกเอสกิโมที่อยู่ชายฝั่งอาร์ติคของอเมริกาเหนือ พวกอีเวนกิในมองโกเลีย ไซบีเรีย พวกคามท์ชัดคัลที่อยู่แหลมคัมซัตกา เป็นต้น
2.4 ออสตราลอยด์ (Australoid) หรือ เซียมมอยด์ (Siamoid) ชาติพันธุ์กลุ่มออสตราลอยด์ หรือเซียมมอยด์ โดยทั่วไปผิวจะมีสีคล้ำ ผมหยิกสลวยอย่างพวกคอเคซอยด์ แต่ปลายจมูกกว้างเหมือนพวกนิกรอยด์ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มย่อย คือ
2.4.1 ออสตราลอยด์ ได้แก่ ออสเตรเลียนอะบอริจินส์ในออสเตรเลีย เวดดาห์ในศรีลังกา พรี-ดราวิเดียนในอินเดีย ไอนุในญี่ปุ่น เป็นต้น
2.4.2 อินโด-มาเลย์ ได้แก่ อินโดนีเซียน อยู่ทางตอนใต้ของจีน พม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
2.4.3 อเมริกันอินเดียน ได้แก่ พวกอินเดียนแดงที่อยู่ในอเมริกา
       3. หลักการทางภูมิศาสตร์ เป็นการแบ่งตามลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศของโลก โดยพิจารณาว่ามนุษย์ได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ในภูมิภาคต่างๆ อย่างไรก็ตามหลักการนี้แบ่งได้ 7 ภูมิภาค คือ
3.1 ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งประกอบด้วย เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันตก และเอเชียกลาง
3.2 ภูมิภาคยุโรป ประกอบด้วย ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ และยุโรปกลาง
3.3 ภูมิภาคแอฟริกา ประกอบด้วย แอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันออก แอฟริกาใต้ แอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง
3.4 ภูมิภาคแปซิฟิก ประกอบด้วย หมู่เกาะทั้งหลายในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีหมู่เกาะมากที่สุดในโลก
3.5 ภูมิภาคอเมริกา ประกอบด้วย อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
3.6 ภูมิภาคทะเลทรายในทุกทวีป ซึ่งมีประชากรอดทนอยู่ในสภาพอากาศที่ แห้งแล้ง
3.7 ภูมิภาคขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นจนกลายเป็นน้ำแข็งอยู่เกือบตลอดปี
       4. หลักการทางศิลปะและวัฒนธรรม เป็นแนวโดยพิจารณาจากผลงานของมนุษย์ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อการดำรงอยู่ของมวลมนุษย์ ซึ่งสามารถแบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 สายคือ
     4.1 วัฒนธรรมล่าสัตว์และเลี้ยงสัตว์พเนจร (Hunter-Nomads) เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สุดของโลก มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร มีถิ่นฐานที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง เพราะต้องเร่ร่อนไปตามฝูงสัตว์ตลอดเวลา เป็นวัฒนธรรมที่เกิดมาเมื่อ 2,500,000 ปีมาแล้ว จนถึงประมาณ 20,000 ปี จึงได้เปลี่ยนไป ศิลปะทั้งหลายที่มนุษย์ในวัฒนธรรมนี้สร้างขึ้นเป็นประเภทอาวุธป้องกันตัว จับสัตว์ และฆ่าสัตว์ที่ทำด้วยหินและไม้ รู้จักทำเครื่องปั้นดินเผา หม้อต้มทรงกรวยปากกว้างก้นเล็ก เมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนสี และภาพแกะสลักผนังตามถ้ำต่างๆ อีกด้วย
     4.2 วัฒนธรรมเกษตรกรชาวนา เป็นวัฒนธรรมที่วิวัฒนาการขึ้นจากวัฒนธรรมล่าสัตว์ และเลี้ยงสัตว์พเนจรเมื่อประมาณ 20,000 ปีมาแล้ว เป็นวัฒนธรรมที่มนุษย์เริ่มกินอาหารสดและเริ่มใช้เมล็ดพืช โดยเฉพาะข้าวเป็นอาหารหลักแทนเนื้อสัตว์ รู้จักประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะหุงต้ม และเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่กับที่ไม่เร่ร่อนเหมือนแต่ก่อน รู้จักสร้างที่อยู่บนที่สูงริมฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ รู้จักทำการเพาะปลูก ทำให้มีอาหารเพื่อบริโภคอย่างเพียงพอ จึงมีเวลาว่างมากขึ้นในการที่คิดสร้างสรรค์วัฒนธรรมต่างๆ ขึ้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต ดังได้พบหลักฐานว่า มีการแกะสลักผนังถ้ำเป็นสัญลักษณ์แทนคำพูด

ลักษณะสากลของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต

      ชาร์ลส์ ดาร์วิน (.. 1809 – 1882) ได้ชี้ให้เห็นลักษณะซึ่งมนุษย์และสัตว์มีอยู่ร่วมกันเมื่อประมาณปี ค.. 1859 และเป็นที่ยอมรับกันตั้งแต่นั้นมา ลักษณะซึ่งมนุษย์และสัตว์มีอยู่ร่วมกันนั้น คือ ลักษณะสากลของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งลักษณะดังกล่าวพอจะประมวลได้ดังนี้
1. สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการอาหาร น้ำ และอากาศ
2. เนื่องจากความต้องการในข้อแรก สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและชีวภาพ
3. สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความสามารถในการสืบพันธุ์
4. ถ้าสิ่งมีชีวิตขยายแพร่พันธุ์ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีอะไรมายับยั้ง ถึงจุดหนึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงชีวิตจะขาดแคลนลง
5. เมื่ออาหารขาดแคลน สิ่งมีชีวิตทั้งหลายย่อมมีการต่อสู้แข่งขันเพื่อแย่งชิงอาหาร
6. สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดสืบพันธุ์มีลูกหลานลักษณะเหมือนพ่อแม่ แต่เนื่องจากกระบวนการผ่าเหล่า (Mutation) และการผสมกันของยีนส์ จึงทำให้ลูกหลานอาจมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ยิ่งมีประชากรมากยิ่งมีโอกาสเกิดความแตกต่างกันได้มากขึ้น
7. การที่สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องแข่งขันหาอาหารกัน ย่อมทำให้เกิดกระบวนการคัดเลือกของธรรมชาติ ทั้งในสปีชีส์เดียวกันและสปีชีส์ต่างกัน สัตว์ที่ได้เปรียบ ได้แก่ สัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้สูง มีกำลังกายแข็งแรง ฉลาด มีความอดทน และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมได้ดี
8. เมื่อมีการคัดเลือกของธรรมชาติ จึงทำให้มีการวิวัฒนาการของอวัยวะต่างๆ และวิวัฒนาการของพฤติกรรมตามมา สัตว์ชนิดใดสามารถจะมีวิวัฒนาการของอวัยวะในทางที่ได้เปรียบก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า ก็อยู่รอดได้มากกว่า
ลักษณะของมนุษย์มีผลต่อพฤติกรรมความอยู่รอดและความเจริญ มนุษย์ได้เปรียบกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะตัวตั้งตรง สมองที่มีขนาดใหญ่กว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ เมื่อเทียบกับขนาดของร่างกาย และรู้จักใช้แนวความคิดสร้างภาพหรือสัญลักษณ์ อันเป็นพื้นฐานให้มีการสร้างสรรค์และถ่ายทอด       วัฒนธรรม มนุษย์มีลักษณะหลายอย่างเหมือนๆ กับสัตว์ประเภทอื่นๆ แต่บางลักษณะก็เป็นลักษณะเฉพาะที่ผิดไปจากสัตว์อื่น และเป็นลักษณะที่ได้เปรียบ ลักษณะสำคัญของมนุษย์ปัจจุบันมีดังนี้
1. ยืนตัวตรง และเคลื่อนที่ด้วย 2 ขา
2. ช่วงขายาวกว่าแขน
3. หัวแม่มือ หัวแม่เท้าสั้น โดยหัวแม่มือพับงอเข้ามา อุ้งมือและนิ้วทั้ง 4 งอได้ มนุษย์จึงสามารถใช้มือจับ ดึง ฉีก ขว้าง ทุบ แกะ ฯลฯ และสามารถสร้างเครื่องมือได้ตามต้องการ
4. กระดูกสันหลังตั้งตรง แต่มีลักษณะโค้งเป็นตัว S
5. ร่างกายไม่ค่อยมีขน
6. กระดูกคอ ต่อจากใต้ฐานหัวกะโหลก
7. สมองมีขนาดโตเมื่อเทียบกับขนาดของร่างกายและทรงคุณภาพยิ่ง
8. หน้าสั้นและแบน หน้าผากค่อนข้างตั้งตรง
9. ขากรรไกรสั้น และแนวฟันตามเพดานปากโค้งเกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม
10. เขี้ยวไม่โตกว่าฟันหน้ากราม
11. ฟันหน้ากรามซี่ที่หนึ่งและซี่ที่สองไม่ต่างกันมาก
12. มีระบบสืบพันธุ์ที่ไม่จำกัดขอบเขต สามารถสืบพันธุ์ในเวลาใดๆ ก็ได้
13. มนุษย์เป็นสัตว์ที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยมนุษย์ด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทารก
14. มนุษย์เป็นสัตว์กินทั้งพืชและสัตว์มากที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย
15. ช่วงหลังจากที่มนุษย์เจริญวัยเต็มที่นั้นนานมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่นๆ
ศักยภาพของมนุษย์
       มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากสัตว์อื่นๆ หลายประการ และเป็นลักษณะที่ได้เปรียบ เช่น ความสามารถในการสร้างมโนภาพ การรู้จักใช้เหตุผลในการปรับปรุงวิถีในการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม ฯลฯ ซึ่งลักษณะพฤติกรรมที่ได้เปรียบนี้ สืบเนื่องมาจากลักษณะทางชีววิทยาที่เหมาะสมของมนุษย์ เช่น ขนาดของสมองที่โตเมื่อเปรียบเทียบกับร่างกายทำให้เกิดความฉลาด สมองของมนุษย์ปัจจุบันมีขนาดประมาณ 1,450 ลูกบาศก์เซนติเมตร รวมทั้งความสนใจอยากรู้สิ่งใหม่ๆ ความสามารถในการเลียนแบบ ความตั้งใจ ความพยายาม ความทรงจำ และความสามารถในการสร้างมโนภาพ ทำให้มีความก้าวหน้ากว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มนุษย์ยังใช้เหตุผลเพื่อปรับปรุงตัวในการดำรงชีวิตให้เหมาะสม มนุษย์สร้างเครื่องมือนานาชนิด เพื่อใช้ในการดำรงชีพ แก้ปัญหาโดยใช้ประสบการณ์จากปัญหาในอดีตเป็นแนวทางเพื่ออนาคต ทั้งยังรู้จักสร้างสัญลักษณ์แทนคำพูด ใช้ภาษาในการสื่อความหมาย กำหนดบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตร่วมกัน มีวัฒนธรรมอันแสดงถึงความเชื่อและพฤติกรรมของวิถีชีวิต
ความได้เปรียบที่สำคัญของมนุษย์ พิจารณาจากลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้
1. มีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างมากมายผิดจากสัตว์ประเภทอื่นๆ ลักษณะนี้ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมได้ การเรียนรู้ของมนุษย์นั้นอาศัยระบบสัญลักษณ์
2. มีมันสมองที่ใหญ่และมีคุณภาพ ทำให้มีสติปัญญาในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต สามารถบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้มากมายยากที่จะเปรียบได้
3. สามารถเดินได้เร็ว มีร่างกายตั้งตรงกับพื้นโลก ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้รอบตัวและรวดเร็ว
4. มีนิ้วมือที่จะช่วยให้ทำหรือประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ได้อย่างละเอียด
5. มีตาที่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ดี มองเห็นได้ในระยะไกล และมองเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นดวงตายังตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมอีกด้วย
6. มีอายุที่ยืนยาวกว่าสัตว์อื่นๆ ทำให้สามารถเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ มีการถ่ายทอดกันได้มากกว่า และมีความสัมพันธ์กันหลายรุ่นหลายวัย
7. โดยปกติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การดำรงชีวิตมีแนวโน้มว่าจำเป็นและชอบที่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มทำให้โอกาสที่จะสะสมความรู้และประสบการณ์ดีกว่าอยู่เพียงคนเดียว
ในเยาว์วัย จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในการเลี้ยงดู ในการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ความปลอดภัย และการอบรมเลี้ยงดู จะใช้เวลายาวนานกว่าของสัตว์ประเภทอื่นๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ การเลียนแบบ
8. มนุษย์มีกิจกรรมทางเพศตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนถึงวัยชรา และโดยตลอดไม่มีเว้นห้วงเวลา ทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างชายและหญิงมีเสถียรภาพ และการวางแผนประชากร ทำได้ดีกว่า
9. มนุษย์สามารถเรียนรู้และมีความฉลาด รู้จักใช้เหตุและผลในการแก้ปัญหาและพัฒนาวัฒนธรรม
10. มนุษย์มีเครื่องมือในการสื่อความหมาย ทำให้มีการติดต่อสะสมและถ่ายทอดวัฒนธรรมได้ดี

11. มนุษย์ได้เปรียบกว่าสัตว์อื่นๆ เพราะกินอาหารได้มากชนิด ทั้งพืชและสัตว์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น